คลิปวีดีโอ » “อโรคยาศาล” ปราสาทเก่าแก่ที่ถูกลืม!? เตรียมบูรณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญ

“อโรคยาศาล” ปราสาทเก่าแก่ที่ถูกลืม!? เตรียมบูรณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญ

3 สิงหาคม 2021
2265   0

ปราสาทเก่าแก่ที่ถูกลืม!?   เตรียมบูรณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญของชาวอำเภอจอมพระ

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายคุณากร ปรีชาชนะชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุรินทร์ เขต 3 ได้ประสานเพื่อให้นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กรมศิลปากร ลงพื้นที่สำรวจปราสาทจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

เนื่องจากเป็นปราสาทเก่าแก่ที่ไม่ได้บูรณะมายาวนาน เหมือนปราสาทที่ถูกลืม แต่ที่จริงแล้วเป็นปราสาทที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง  จึงได้เชิญผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10

มาชมปราสาทเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการบูรณะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อรองรับกิจกรรมท่องเที่ยว one day trip ไปไหว้หลวงพ่อพระชีว์ ไปดูผ้าไหมท่าสว่าง ไปชงเครื่องเงินที่เขวาสินรินทร์ มาชมปราสาทจอมพระ ไปดูช้างที่บ้านตากลาง จบด้วยนั่งซิลๆที่ทะเลสาบทุ่งกุลา

นายคุณากร ปรีชาชนะชัยกล่าวว่าพี่น้องประชาชนอำเภอจอมพระให้ความสนใจปราสาทแห่งนี้เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขาดการดูแลมาอย่างยาวนาน เราเห็นถึงความสำคัญเลยอยากบูรณะปราสาทจอมพระให้สวยงามเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนที่สัญจรผ่านไปมาได้แวะชม

นายบรรพต สุรินทร์ศิริรัฐ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอจอมพระ กล่าวว่าวันนี้ได้เชิญผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เพื่อมาดูปราสาทจอมพระ หินที่เหลือว่าพอจะต่อเติมให้ครบได้ไหม

เนื่องจากเป็นปราสาทเก่าแก่ที่ได้เคยปรับปรุงมานานแล้ว ปัจจุบันปราสาทแห่งนี้เป็นปราสาทที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นจุดศูนย์รวมใจของชาวอำเภอจอมพระ ซึ่งในทุกๆปีจะมีพิธีบวงสรวงองค์ปราสาท จึงอยากให้มีการปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม

ปราสาทจอมพระเป็นอโรคยศาลหรือศาสนสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ในจำนวนหลายร้อยแห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 เนื่องจากพระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน และทรงสนับสนุนให้ประชาชนของพระองค์นับถือศาสนานี้ด้วย

ทำให้สิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมของวัฒนธรรมเขมรที่เคยมีขนาดใหญ่โต เนื่องในศาสนาฮินดูเปลี่ยนไปเป็นสิ่งก่อสร้างที่มุ่งเน้นที่การสร้างกุศลเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนของพระองค์ ตามหลักของศาสนาพุทธ จากหลักฐานต่างๆ และจารึกที่สร้างไว้ตามอโรคยศาลนั้น ทำให้ทราบว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงโปรดให้สร้างอโรคยศาลหรือโรงพยาบาลขึ้นไว้ตามเมืองต่างๆ ทั่วพระราชอาณาเขต 

โดยมอบให้เจ้าเมืองเป็นผู้ดูแล พร้อมทั้งจัดหาแพทย์ พยาบาล และยารักษาโรค ไว้เพื่อแจกจ่ายรักษาประชาชนผู้เจ็บป่วย  อโรคยศาลทุกแห่งมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกัน คือ ปราสาทประธาน 1 องค์ ตั้งอยู่ตรงกลาง ด้านหน้าขวามีวิหาร 1 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว และด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกกำแพงแก้วมีสระน้ำขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 1 สระ

ปราสาทจอมพระ มีปราสาทประธาน 1 องค์ ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม  มีประตูทางเข้าออกอยู่ทางทิศตะวันออก หน้าประตูมีมุขยื่น ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานมีบรรณาลัย 1 หลัง

ก่อด้วยศิลาแลงแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าออกอยู่ทางทิศตะวันตก ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณด้านทิศตะวันออกมีซุ้มประตูรูปกากบาท ที่ผนังประตูมีช่องหน้าต่าง 1 ช่อง  นอกเขตกำแพงแก้วมีสระน้ำ 1 สระ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร

พบโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ พระวัชระสัตว์ และ เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร   ปัจจุบันปราสาทจอมพระยังไม่ได้ทำการบูรณะ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยังไม่การเก็บค่าเข้าชม

สมภพ เจริญยิ่ง ข่าวสนมนิวส์